14 เหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับวงการ “นักพัฒนาเกม” ในรอบปี 2024 ที่ผ่านมา
January 11, 2025
bookmarkข่าว
sellเหตุการณ์ที่ 1: “คลาสสิกเกม” กำลังได้รับความนิยม !!
รู้หรือไม่ว่าในปี 2024 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณ 15 - 16 ครั้ง ที่พูดได้ว่าตอนนี้ “คลาสสิกเกม” หรือเกมเก่าในอดีต กำลังกลับมาได้รับความนิยม
ประเด็นแรกคือการเปิดตัวเครื่องเกม สำหรับใช้เล่นเกมคลาสสิกต่าง ๆ โดยปีนี้มีเปิดตัวออกมา 2 เครื่องด้วยกัน ประกอบไปด้วย Mega 95 จากค่าย Hyperkin ที่เปิดตัวออกมาเป็น เครื่องเล่นเกมตลับแท้ของ Sega Genesis/Mega Drive โดยทำออกมาเป็นแบบเครื่องพกพา และเพิ่มความละเอียดในตัวเกมต่าง ๆ นอกจากนี้ทางค่าย Analogue ยังได้เปิดตัว Analogue 3D เครื่องเกมย้อนยุครองรับตลับเกม N64 ทั้งหมด 100% ออกมาอีก
นี่ยังไม่รวมถึงเครื่องเล่นเกม EMU ในบ้านเรา ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในตอนนี้อีกด้วย อาจพูดได้ว่า การการพอร์ตเกมเก่า ๆ มาเล่นในเครื่องเกมยุคใหม่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในสายงานของนักพัฒนาเกมยุคนี้เลยละ
ต่อจากเหตุการณ์ด้านบน รู้ไหมว่าปีนี้ มี 8 เหตุการณ์ที่ทางค่ายเกมใหญ่ ๆ เริ่มหยิบเอาเกมเก่า ๆ ที่โด่งดังในอดีตกลับมาให้เราได้เล่นในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทาง Ubisoft ที่ออกแพ็กเกจ Classic ราคาถูก 7.99 ดอลลาร์ต่อเดือน ให้เราเข้าถึงเกมเก่า ๆ ของค่ายได้โดยเฉพาะ
EA นำเกมแนววางแผนของค่ายเก่า ๆ มาขายบน Steam ชุดใหญ่ โดยมีตั้งแต่ Sim City 3000, Populous 1-2, Dungeon Keeper 1-2, Command & Conquer, Sid Meier's Alpha Centauri และ The Saboteur นอกจากนี้ยังมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ทำการแปลงไฟล์ของเกม Diablo 1 มาเล่นผ่านเว็บเบราว์เซอร์ได้อีกด้วย
หรือทาง Konami ประกาศนำเกม Castlevania ภาคเก่า ๆ บนเครื่อง Nintendo DS มามัดรวมขายใหม่ในทุกเครื่องเกม และยังมีทาง Microsoft ที่หยิบเอา StarCraft 1 และ 2 กลับมาให้เล่นอีกครั้งผ่านทาง PC Game Pass
ในขณะข่าวใหญ่สุดในหมวดนี้ก็ที่ทาง GOG ทำการเปิดตัว GOG Preservation Program โครงการอนุรักษ์เกมเก่า ที่พยายามทำให้เกม PC เก่า ๆ สามารถรันได้บน PC ยุคปัจจุบัน เพื่อการันตีให้เกมสามารถนำมาเล่นได้อีกในอนาคตนั่นเอง รวมไปถึงเรื่องที่ทาง Sarah Bond ประธานของ Xbox ประกาศตั้งทีมใหม่เพื่อทำการอนุรักษ์เกมเก่าของตัวเองเอาไว้ ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กันคือ จะได้การันตีว่าเกมในเครือ Xbox จะสามารถนำไปเล่นได้เสมอในอนาคต
สุดท้ายก็คือข่าวที่ทาง GameStop ร้านค้าปลีกเกมของสหรัฐปรับตัวอีกรอบ โดยเปลี่ยนหน้าร้านบางสาขาให้ปรับมาขายเกมเรโทร หรือเกมเก่าเพียงอย่างเดียว เพื่อเอาตัวรอดกับเทรนด์การซื้อเกมออนไลน์ เพราะเกมเก่ายังจำเป็นต้องใช้แผ่นหรือตลับแบบ Physical อยู่
ในแง่ของ IP เกมที่อยู่รอดมาได้นานหลายปี ก็มีหลายเกมทีเดียว ที่เริ่มอัปเดตระบบหรืออีเวนท์ใหม่ ๆ ให้ผู้เล่นได้สามารถกลับไปเล่นเวอร์ชันเก่า ๆ ของตัวเกมได้
เริ่มจากเกม Overwatch 2 อัปเดตเพิ่มโหมด Classic ให้ย้อนความหลัง กลับไปเล่นแผนที่และตัวละครตามแพตช์เวอร์ชัน 1.0 ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน หรือ Fortnite นำเนื้อหาภาคแรกสุด OG (Chapter 1 Season 1) กลับมาให้เล่นอีกครั้ง และยังมี Halo 2 ที่ฉลองครบรอบ 20 ปี ทำการนำฉากที่ถูกตัดออกจากเกมมาให้เล่นกันเป็นครั้งแรก ก็ถือว่าใช่เช่นเดียวกัน
และถ้าพูดถึงเจ้าพ่อเกมเก่า ก็คงจะขาด Nintendo ไปไม่ได้ ในปีนี้ทาง Nintendo ได้มีการเปิดตัว Nintendo World Championships: NES Edition สำหรับเครื่อง Nintendo Switch ที่จะรวบรวม Speedrun Challenge 150 แบบจากเกมในยุค NES ซึ่งมีทั้งหมด 13 เกม มาให้เล่นแข่งกันแบบออนไลน์ที่บ้านได้
และยังได้มีการเปิดตัว Tetris Forever ที่นำเกม Tetris ภาคเก่าในอดีตมารวมไว้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เกม สามารถเล่นตัวเกมทั้งหมดได้ในเกมเดียวอีกด้วย
ช่วงท้ายปีเองก็มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นเช่นกัน เริ่มแรกเลยก็คือข่าวที่ทาง Capcom นำแฟรนไชส์ Onimusha และ Okami กลับมาอีกครั้ง แถมยืนยันจะทำภาคใหม่ของแฟรนไชส์เกมเก่า ๆ ที่ไม่ได้ออกมานาน ออกมาอีกด้วย
สุดท้ายก็คือรายงานของ Steam ที่พบว่าผู้เล่นบน Steam ใช้เวลาเพียง 15% เท่านั้นกับการเล่นเกมใหม่ของปี 2024 เท่ากับว่า 85% ที่เหลือคือการเล่นเกมเก่าที่ออกก่อนหน้านั้นทั้งหมด
ทั้งหมดนี้คือการยืนยันว่าวงการเกมเก่า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น นักพัฒนาสายพอร์ตเกม หรือสายอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มนี้ น่าจะยิ้มกันได้เลยครับ
เหตุการณ์ที่ 2: อวสาน “เอ็กซ์คลูซีฟ”
“เกมเอ็กซ์คลูซีฟ” น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูกันดี โดยเฉพาะประเทศไทยเรา ที่นิยมเครื่องเกม PlayStation เป็นหลัก เพราะ PlayStation ถือเป็นเครื่องเกมที่อยู่รอดมาได้ และเป็นอันดับ 1 ของโลกจากเกม “เอ็กซ์คลูซีฟ” ล้วน ๆ เลย (จริง ๆ ต้องรวม Nintendo ไปด้วยอีกเจ้า)
และในปี 2024 ที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากกว่า 15 ครั้ง ที่แทบจะพูดได้ว่า “เอ็กซ์คลูซีฟเกม” กำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้…
จุดเปลี่ยนและตาพายุของเรื่องนี้ เริ่มต้นมาจากทาง Microsoft และ Xbox ที่ประกาศว่ามีเป้าหมายในการพา Xbox มุ่งเป้าไปเป็นบริษัทเกม Cross Platform อันดับ 1 โดยมีกลยุทธ์ที่จะขยายเกมของตนไปยังทุกแพลตฟอร์ม
รวมไปถึงเรื่องของ “เอ็กซ์คลูซีฟเกม” ทาง Xbox และ Microsoft มองว่าต้นทุนในการพัฒนาเกมเหล่านี้นั้นสูงเกินไป เพราะเกมเอ็กซ์คลูซีฟส่วนใหญ่เป็นเกม AAA การขายมันในแค่ช่องทางเดียวนั้นไม่คุ้มเลย และที่สำคัญที่สุด คือพฤติกรรมของคน Gen Z นั้นคุ้นเคยกับการเข้าถึงเนื้อหาผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เช่น TikTok ที่สามารถใช้งานได้ทั้งใน iOS และ Android
จุดเริ่มต้นนี้ส่งผลให้ Xbox ทะเลาะกับทาง Aple เจ้าของ App Store ในเรื่องที่จะนำ Xbox Store มาลงในระบบ iOS รวมถึงยังมีการส่งสารไปยัง Epic Games ในการเชิญให้เอา Epic Games Store มาลงใน Xbox Store แน่นอนว่า Xbox อยากให้เจ้าของ Store เจ้าอื่น ๆ เอาแพลตฟอร์มของตัวเองมาลงใน Xbox Store หรือ Microsoft Store ทั้งหมด
Epic Games ถือเป็นแบรนด์ที่ตอบสนองต่อเรื่องนี้มากที่สุด พวกเขาประกาศเอา Epic Games Store ลง Android และ iOS แทนที่จะอยู่แต่บน PC ทำให้ Epic Games Store กลายเป็นสโตร์รายแรกที่มีครบทุกแพลตฟอร์ม โดยนอกจาก Google Play และ App Store ทาง Epic ยังได้เอา Epic Games Store ไปลงบน AltStore PAL ในยุโรปอีกด้วย
นอกจาก Epic Games และ Xbox แล้ว ก็ยังมี Google ที่ขยาย Google Play Games บนวินโดวส์ให้รองรับเกม PC ด้วยแล้ว หลังจากรองรับแค่เกม Android เท่านั้น นอกจากนี้ทาง App Store ยังอนุญาตให้แอปอีมูเลเตอร์เกมลงสโตร์ได้แล้วอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลให้เกมดัง ๆ มากมาย ทั้งเกมเอ็กซ์คลูซีฟชื่อดัง และเกมที่จำกัดตัวเองอยู่แค่บนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เปลี่ยนตัวเองตาม เช่น Diablo IV ประกาศลง Games Pass เกม Final Fantasy 16 ลง PC หรือเกม Ghost of Tsushima บน PC ทำระบบให้สามารถ Crossplay กับ PS4 หรือ PS5 ได้
Stellar Blade พยายามทำตัวเกมให้เหมือนเดิมที่สุด ไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาใด ๆ ในทุกภูมิภาค Kingdom Hearts เอาตัวเกมทั้งหมดมาลงขายบน Steam หรือ Microsoft ประกาศนำเกม Avowed ของ Obsidian Entertainment ไปขายบนแพลตฟอร์ม Battle.net ของ Blizzard ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีเกมนอกค่าย Activision Blizzard ไปขายบน battle.net และล่าสุดที่ Final Fantasy VII Rebirth ประกาศวันขายบน PC ในวันที่ 23 มกรานี้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ บอกให้รู้ว่า ปัจจุบัน “เกม 1 เกม” จะไม่อยู่แค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง และจะไม่จำกัดตัวเองแค่เป็นเกม PC หรือคอนโซลแค่นั้น แต่ยังสามารถนำตัวเองแปลงร่างไปเป็นเกมที่เล็กกว่า อย่างเกมบนมือถือได้อีกด้วย
สิ่งนี้สร้างช่องทางให้นักพัฒนาเกมมากขึ้น มันคือสิ่งที่ว่า ตอนนี้เรามีช่องทางและพื้นที่ในการขายเกมของเราได้มากขึ้นและยืดหยุ่นยิ่งกว่าที่เคย ปัญหาคือ เราจะปรับตัวกับมันทันไหม ?
พายุของ Microsoft ทำให้ Sony เจ้าของ PlayStation ต้องเปลี่ยนตัวเอง หลังมีจุดแข็งเรื่องของ “เกมเอ็กซ์คลูซีฟ” มาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายที่จะจะขยายธุรกิจเกมไปยัง PC, มือถือ และคลาวด์
การเดินเกมของ Microsoft และ Xbox ทำให้ใครหลายคนมองว่า Xbox จะแทบไม่มีเกมเอ็กซ์คลูซีฟเหลืออยู่เลย แน่นอนว่าพวกเขาจะยังทำ Xbox ต่อ แต่เน้นจับตลาดกลุ่มฮาร์ดคอร์เกมเมอร์แค่เท่านั้น อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนที่ต่อต้านเรื่องนี้ เช่น Mike Ybarra อดีตประธาน Blizzard ที่มองว่าการทำเกมลงทุกแพลตฟอร์ม ก็แค่ข้ออ้างของคนแพ้
เพราะในความเห็นของเขา คอนโซลไม่มีวันตาย
เหตุการณ์ที่ 3: ยุครุ่งเรืองของเครื่องเล่นเกม “พกพา”
หัวข้อนี้เกี่ยวข้องกับ 2 หัวข้อก่อนหน้า การขยายตัวเกมไปลงในหลากหลายแพลตฟอร์ม จุดเริ่มต้นแรกจริง ๆ มาจาก “เครื่องเกมบอย” ต่อมาในยุคก่อนหน้านี้คือ “มือถือ” และในปัจจุบันด้วย “Nintendo Switch” ซึ่งส่งต่อสู่ “เครื่องเกมอีมูเลเตอร์” และ “เครื่องเกมพกพาสำหรับเล่นเกม PC และคอนโซล”
ในปีนี้มีเครื่องเกมพกพาตัวใหม่เปิดตัวออกมาทั้งหมด 5 + 3 + 1 ครับ 5 เครื่องคือเครื่องเกมตัวใหม่จริง ๆ โดยมี 4 เครื่องที่ออกแบบมาสำหรับเล่นเกม PC แบบพกพาโดยตรง และ 1 สำหรับเล่นเกมคลาสสิกโดยเฉพาะ + 3 + 1 คือ 3 เครื่องเป็นเครื่องเกมที่อัปเกรดจากเครื่องเกมก่อนหน้า เช่น Nintendo Switch 2 และ + 1 คือข่าวเครื่องเกมพกพาใหม่ที่กำลังมาถึงของ Xbox
ความสำเร็จของเครื่องเกมพกพานี้ ยังแสดงออกมาในการขยายแพลตฟอร์มของ Store บน PC ต่าง ๆ ทั้ง Epic Games Store และ Xbox Store ที่มาลงบน iOS และ Android
สถิติที่เผยในปี 2024 นี้ ยังชี้เป้าไปยังเครื่องเกมพกพา ไม่ว่าจะเครื่องเล่นเกม Steam Deck ที่หลังวางจำหน่ายมา 2 ปี ในปีนี้ก็มีเกมมากถึง 14,000 เกมขึ้นไปแล้ว ทาง Phil Spencer ซีอีโอของ Microsoft Gaming ยังออกมาพูดว่าตลาดฮาร์ดแวร์คอนโซลไม่ได้เติบโตอีกต่อไปแล้ว รวมไปถึง Peter Moore อดีตผู้บริหารสูงสุดของ Xbox ที่ได้ออกมาตั้งคำถามว่า “เครื่องเกมคอนโซลยังต้องมีอยู่ไหมในยุคนี้”
Peter Moore มองว่าธุรกิจฮาร์ดแวร์เกมคอนโซลเป็นธุรกิจที่โหดร้าย เพราะขาดทุนหนัก แต่เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นตัวช่วยให้เกมเมอร์เข้าถึงซอฟต์แวร์และบริการได้ ในอดีตการมีฮาร์ดแวร์คอนโซลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะใช้ง่าย ใส่ตลับ-แผ่นเกมแล้วเล่นได้เลย อีกทั้งมีพลังประมวลผลสูง
ปัจจุบัน เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงซอฟต์แวร์และบริการไปมากแล้ว ทุกวันนี้เราไม่เห็นฮาร์ดแวร์เฉพาะสำหรับเล่นเพลง-ภาพยนตร์อีกต่อไปแล้ว เพราะคนใช้วิธีสตรีมเพลง-ภาพยนตร์จากอินเทอร์เน็ตโดยตรงกันหมดแล้ว
รูปแบบการบริโภคสื่อบันเทิงของคนเปลี่ยนไป วัยรุ่นยุคใหม่ไม่นั่งเล่นเกมหน้าทีวีในห้องนั่งเล่นตอนเย็นอีกแล้ว แต่ใช้เวลาว่างไปกับสิ่งบันเทิงหลายรูปแบบ ทั้งโซเชียล, ดูหนังผ่านสตรีมมิ่ง, ดูคลิปสั้น TikTok, ดูรายการบน YouTube โดยทุกอย่างทำผ่านมือถือ คนยังเล่นเกมยังอยู่มาก แต่วิธีการเล่นเปลี่ยนไป เราไปนอนเล่นในห้องนอนแทน คำถามคือคนรุ่นใหม่ยังยินดีจะจ่าย 500 ดอลลาร์เพื่อฮาร์ดแวร์หนึ่งชิ้นที่เล่นเกมได้เพียงอย่างเดียวอีกไหม ในเมื่อเราสามารถเล่นเกมได้บนสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ เพียงแค่ซื้อจอยเกมดี ๆ เพิ่มสักอันเท่านั้น
ข้อมูลจาก Chris Dring หัวหน้าของ GamesIndustry.biz พบว่ายอดขาย Xbox กำลังลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน แถมยังได้ยินมาว่าร้านค้าปลีกหลายแห่งในยุโรปกำลังพิจารณาหรือลดจำนวนเครื่องคอนโซล, เกม และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ของ Xbox ในร้านลง
รายงานจาก Teikoku Databank บริษัทวิเคราะห์การเงินของญี่ปุ่นเผยจำนวนตู้เกมอาเขตในญี่ปุ่นลดลงเกือบ 8,000 แห่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีเกมเซนเตอร์ล้มละลายในญี่ปุ่นถึง 18 แห่ง สูงสุดในรอบ 5 ปี จำนวนเกมเซนเตอร์ที่ล้มละลายเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ธุรกิจเกมเซนเตอร์ในญี่ปุ่นมีกำไรเฉลี่ยเพียง 6 เยน ต่อยอดขาย 100 เยน
ในปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Vladimir Putin ได้สั่งให้รัฐบาลรัสเซียพิจารณาการผลิตและพัฒนาเครื่องเกมคอนโซลของรัสเซีย โดยให้ชั่งน้ำหนักข้อกำหนดสำหรับการจัดระเบียบการผลิตเครื่องเล่นเกมคอนโซลทั้งแบบอยู่กับที่และพกพาในรัสเซีย
คำสั่ง Putin ยังเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาการพัฒนาระบบปฏิบัติการ และระบบคลาวด์เพื่อส่งมอบเกมให้กับผู้เล่น ซึ่งคำสั่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกมของรัสเซียขึ้นมา
Lisa Su ซีอีโอของ AMD ยอมรับว่าตลาดเกมคอนโซลมียอดขายลดลงมาก ส่งผลให้รายได้ส่วนนี้ของ AMD ลดลงตามไปด้วย เรื่องนี้สอดคล้องไปกับยอดขายที่เติบโตช้าลงของ PS5
เหตุการณ์เหล่านี้และข่าวสารทั้งหมด คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า “เครื่องเล่นเกมพกพา” คือปัจจุบันและอนาคตของวงการ
เหตุการณ์ที่ 4: ยุคแห่ง Subscription มาถึงแล้ว…
Subscription หรือการสมัครบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่มีมาสักพักแล้วครับ มันก็คล้าย ๆ กับการต่ออายุสมาชิกบางอย่างนั่นแหละ แต่สำหรับบนโลกออนไลน์นั้นจะแตกต่างไปนิดหน่อย ถ้ายกตัวอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ Netflix ที่เราจ่ายรายเดือน แล้วก็จะสามารถดูคอนเทนต์ที่อยู่บนนั้นได้ทั้งหมด เป็นต้น
ข้อดีของ Subscription ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องซื้อหรือเป็นเจ้าของสินค้านั้น ๆ แต่สามารถใช้งานมันอย่างไรก็ได้ ซึ่งมันเหมาะกับคอนเทนต์ออนไลน์ในยุคปัจจุบันมาก ๆ และ “เกม” ก็ถือเป็นหนึ่งในภาคส่วน ที่กำลังนิยมใช้โมเดลนี้อยู่
โดย Subscription สำหรับเกม จะเหมาะกับคนที่ชอบเล่นเกมที่หลากหลาย หรือมีทุนในการซื้อเกมไม่เยอะ การจ่ายเงินเพียงหลักร้อย แต่สามารถเข้าถึงเกมได้ในระดับหลักพันหลักหมื่น จึงดูเป็นอะไรที่คุ้มสุด ๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2024 ที่ผ่านมานี้ ก็คือสิ่งที่บอกว่า ยุคแห่ง Subscription ได้มาถึงแล้ว…
สิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงปี 2024 คือ Subscription ของหลาย ๆ เจ้า มีการเพิ่มแพ็คเกจให้หลากหลายขึ้น มีการทำโปรโมชั่น และที่น่าสนใจมากที่สุด คือ “การปรับราคาให้สูงขึ้น” นั่นแสดงให้เห็นว่า Subscription ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี หลาย ๆ เจ้าจึงกล้าที่จะปรับราคาให้สูงขึ้นนั่นเอง
โดยในปีนี้มีทั้ง EA และ Microsoft เลยที่มีเรื่องของการปรับราคาโดดเด่นออกมา โดยที่เด่นที่สุดคงเป็น Microsoft ที่ถึงขนาดที่ทาง FTC ต้องออกมาฟ้องต่อเนื่อง เรื่องที่ Game Pass ขึ้นราคาจนกลายเป็นความเสียหายต่อผู้บริโภค
ในอนาคต Subscription จะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อค่ายใหญ่ ๆ เลือกที่จะปล่อยเกมเรือธงของตัวเองลงระบบ Subscription ตั้งแต่วันแรกที่ตัวเกมวางจำหน่าย... นั่นหมายความว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อ ผู้เล่นจะซื้อเกมน้อยลง และจะหันมาสมัคร Subscription กับแพลตฟอร์มที่มีเกมที่พวกเขาสนใจมากที่สุดแทน
ซึ่งในปีนี้ทาง Microsoft หรือ XBOX ก็ได้ IP เด่นหลักระดับโลกไปแล้วหนึ่ง นั่นก็คือซีรีส์เกม Call of Duty นอกจากนี้แบรนด์เจ้าของเกมใหญ่ ๆ อย่าง Sega ยังได้ออกมาบอกว่า ทางบริษัทก็กำลังสนใจโมเดล Subscription อยู่เช่นกัน
สำหรับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ยังไม่ลงกับ Subscription ก็ได้เพิ่มโมเดลอื่นที่มีความใกล้เคียงกับ Subscription เข้ามา ที่เด่นที่สุดก็คือ Valve กับการเปิดตัว Steam Family ที่จะทำให้คน 6 คน สามารถแชร์เกมที่มีให้เล่นร่วมกันได้ ซึ่งก็จะคล้าย ๆ กับโมเดล Subscription ที่จะช่วยให้ผู้เล่นไม่ต้องซื้อเกมมาเพื่อเล่นเองอีกต่อไป นั่นเอง
ปี 2024 นี้ ความนิยมของ Subscription จะยิ่งมากขึ้นไปอีก เมื่อในปีนี้มีประเด็นเกี่ยวกับกฎของเกมใน Steam เกิดขึ้น เมื่อกฎของ Steam ไม่อนุญาตให้เราโอนไอดีหรือเกมไปให้คนอื่นแม้จะทำพินัยกรรมไว้ แปลว่าถ้าเรา “ตาย” เกมที่เรามีทั้งหมด จะไม่ถือเป็นทรัพย์สิน และเราส่งต่อให้ใครไม่ได้
และทาง Netflix ยังได้ออกมาพูดถึงความสำเร็จในการมีเกมให้คนที่สมัคร Netflix ได้โหลดไปเล่นแบบฟรี ๆ ว่า ในปีนี้มียอด Engagement เพิ่มขึ้นมากถึง 3 เท่า ถ้าเทียบกับปีก่อน และพบว่ามีลูกค้าบางคนสมัคร Netflix เพื่อเล่นเกมนี้อย่างเดียวเลยก็มี
อย่างไรก็ตาม Subscription ก็ยังถือเป็นโมเดลที่ยังใหม่สำหรับโลกของการซื้อขายเกม และมันสร้างผลกระทบ
กับบริษัทที่ต้องขายเกมแบบตรง ๆ มาก ทำให้มีแบรนด์ใหญ่ ๆ หลายเจ้าออกมาต่อต้าน เช่น Strauss Zelnick ซีอีโอของ Take-Two Interactive ออกมาพูดว่า การนำ Call of Duty มาลง Game Pass ย่อมช่วยดันยอดสมาชิก Game Pass ในช่วงเวลาหนึ่งอยู่แล้ว แต่ Take-Two ไม่เลือกเส้นทางนั้นแต่แรก เพราะมันไม่เมคเซนส์ในเชิงธุรกิจใด ๆ เป็นต้น
ไม่รู้ว่าเหล่าผู้สร้างเกมมองเกี่ยวกับ Subscription ในวันนี้อย่างไร... แต่เชื่อเถอะ โลกที่คนต้องซื้อหนังเพื่อดู ณ ตอนนี้ก็กำลังจะตายเพราะ Subscription แล้ว แล้วโลกของคนที่ต้องซื้อเกมเพื่อเล่นละ จะอยู่ได้อีกนานขนาดไหน ?
เหตุการณ์ที่ 5: ทุกแพลตฟอร์ม ควรมี “เกม” เป็นของตัวเอง
Netflix แม้จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับใช้ดูหนัง ดูซีรีส์ แต่ก็มีเกมเป็นส่วนหนึ่งของตัวแพลตฟอร์ม ที่จะให้สมาชิกสามารถโหลดเกมไปเล่นได้ฟรี แน่นอนว่าแนวคิดแรกของ Netflix ก็เพื่อที่จะให้สมาชิกใช้งาน Netflix ได้นานขึ้น
แต่ช่วงหลัง ๆ มา มันกลับได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งมากพอที่จะให้มีสมาชิกบางส่วน สมัคร Netflix มาเพื่อใช้เล่นเกมแค่นั้น
ความนิยมของเกมบน Netflix ทำให้ตอนนี้ทางแบรนด์ยิ่งต้องการผลักดันมันไปให้ไกลยิ่งกว่าเดิม โดยออกมาประกาศว่าต้องการให้เกมสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับบริษัท โดยมีไอเดียทั้งใส่ In-App เข้าไป ออกแพ็คเกจเสริม ไปจนถึงออกแพ็คเกจราคาถูกแต่เกมมีการแสดงโฆษณา เป็นต้น
นอกจากนี้ทาง Netflix ยังได้ออกมาพูดว่า ตนมีเกมอยู่ในคิวพัฒนามากกว่า 80 เกม และจะมีเกมใหม่ ๆ ออกมาอีกในทุกเดือน ตัวธุรกิจหลังทำมาเกือบ 3 ปี สามารถเพิ่มอัตรา Engagement ได้มากกว่าเดิม 3 เท่า และมั่นใจว่าจะเติบโตต่อในปี 2024 ถึงปี 2026
การรุกตลาดเกมของ Netflix ยังไม่จบแค่ในแพลตฟอร์มตัวเองแค่นั้น แต่ในปีนี้ยังมีแคมเปญกับ Roblox ในการเปิดตัวสวนสนุกดิจิทัลชื่อ Nextworld ในเกมให้เลยอีด้วย
Netflix ไม่ใช่แบรนด์ที่บอกว่า ทุกแพลตฟอร์มควรต้องมีเกมเป็นของตัวเองในปี 2024 ที่ผ่านมา แต่เป็น LinkedIn ที่กำลังทดสอบและยืนยันเกี่ยวกับการใส่เกมลงในแพลตฟอร์มของตัวเอง รวมไปจนถึง Discord ที่ได้เพิ่มเครื่องมือให้นักพัฒนาสามารถสร้างเกมที่เล่นได้โดยตรงผ่านแอปออกมาอีกด้วย
นอกจาก LinkedIn และ Discord แล้ว ยังมี Volkswagen แบรนด์เจ้าของยานยนต์ ที่ประกาศความร่วมมือกับบริษัท N-Dream จากสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้รถยนต์ของตัวเอง สามารถเล่นเกมอนจอดรถ โดยใช้มือถือของตัวเองแทนคอนโทรลเลอร์ได้
รวมไปจนถึง Microsoft Edge ที่ได้เพิ่มโหมด Game Assist ลงใน Game Bar เพื่อให้เกมเมอร์มีเครื่องมือสำหรับใช้ร่วมระหว่างเล่นเกม เช่น ฟังเพลง-แชทคุยกับเพื่อน ดูคลิป ไปจนถึงหาบทสรุปตัวเกม เป็นต้น
YouTube ยังได้ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ Playables ที่สามารถเล่นเกมผ่านแพลตฟอร์มได้โดยตรง โดยมีเกมให้เลือกเล่นมากถึง 75 เกมด้วยกัน นอกจากนี้ยังมี Amazon ที่ยังได้เปิดตัวร้านขายเกมในรูปแบบ 3D เป็นของตัวเอง และ Nintendo ที่เปิดตัวแอปฟังเพลงจากเกม Nintendo Music ได้เฉพาะสมาชิก Switch Online เป็นต้น
เหตุการณ์ที่ 6: เกม Live Service “โอกาส” หรือ “จุดจบ”
เมื่อก่อนโมเดลขายของในเกม หรือ Microtransaction เป็นวิธีปกติที่เห็นได้ในเกม Free-to-Play ทั่วไป แต่เดี้ยวนี้ เกมที่ไม่ฟรี หรือขายตัวเกมก็มีการขายของในตัวเกมเช่นกัน และนั่นทำให้คำเรียกสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปเป็น Live Services หรือ “บริการออนไลน์” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม บริการเหล่านี้ถูกมองทั้งดีและร้าย ๆ บางคนก็ไม่ชอบเลย บางคนก็พอจะเข้าใจ และบางคนก็แทบจะไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ขอพูดถึง “โอกาส” เกี่ยวกับ Live Services ในปี 2024 ที่ผ่านมานี้ก่อน โดยมีผลสำรวจออกมาว่า 95% ของสตูดิโอเกม 537 แห่งทั่วโลก กำลังพัฒนาหรือดูแลเกมแนว Live Service อยู่ แปลว่ามีสตูดิโอเกมมากกว่า 500 แห่ง ที่กำลังสร้างหรือพัฒนาเกมแบบ Destiny, Fortnite และ Diablo IV ที่มักมีระบบ Season Pass และ Battle Pass อยู่ในเกม
ผลสำรวจบอกว่าสตูดิโอเกมกว่า 66% เชื่อว่าเกมแนว Live Service นั้นจำเป็นสำหรับความสำเร็จระยะยาว แม้ว่าจะใช้เวลาพัฒนานานกว่า 5 ปี ในขณะที่เกมที่ไม่ใช่ Live Service ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 2-3 ปีก็ตาม
นอกจากนี้ทาง J.B. Perrette หัวหน้าธุรกิจเกมของ Warner Bros. Games ยังได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทจะโฟกัสไปยังเกม Live Service เป็นพิเศษ เพราะมองว่ามีโอกาสเติบโตสูงกว่า
การสร้างเกมแนว Live Service ที่อิงจากแฟรนไชส์หลักของค่าย เช่น Mortal Kombat, Game of Thrones, Harry Potter, DC ผู้เล่นเข้ามาเล่นได้เรื่อย ๆ มีโมเดลการจ่ายเงินระยะยาว แทนการทำเกมคอนโซลที่วัดกันที่ยอดขายตอนแรกเพียงอย่างเดียว จะช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนและสม่ำเสมอมากกว่า
นอกจากนี้ทาง Sony ยังมีประกาศออกมาว่า จะดันเกมแนว Live Service ต่อเนื่อง เพราะยอดขายเครื่องเกมคอนโซล เริ่มเข้าช่วงของขาลงแล้วนั่นเอง นอกจากนี้ Blizzard ยังได้ออกมาประกาศถึงความสำเร็จของเกม Diablo IV ที่ทำเงินจาก Microtransaction ได้เกิน 150 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว
สำหรับในเรื่องของ “จุดจบ” มีทั้งเกม Overwatch 2 ที่ใช้ระบบ Live Service มาตั้งแต่ต้น และถือเป็นซีรีส์เกมแรก ๆ ที่ใช้ระบบนี้ ประกาศเปลี่ยนนโยบายเปิดให้เลือกเล่นตัวละครใดก็ได้ ไม่ต้องเชื่อมกับ Battle Pass เหมือนก่อนหน้า
ดราม่า Ubisoft หลังเกม Star Wars Outlaw ล็อคภารกิจพิเศษไว้หลัง Season Pass ทั้งที่ตัวเกมภาคหลักเป็นเกมราคาเต็ม เล่นคนเดียวอยู่แล้ว รวมไปถึงคอนเทนต์ที่ล็อคก็มีมูลค่าสูงเกินไป ต้องซื้อเกมรุ่น Gold Edition ที่รวมเอา Season Pass มาด้วย ในราคา 3,199 บาท ในขณะที่ตัวเกมเวอร์ชันปกติราคา 1,999 บาท
เกม Wayfinder ที่พัฒนาโดยสตูดิโอ Airship Syndicate ในเท็กซัส ประกาศเลิกทำ Live Service เปลี่ยนมาคิดเงินค่าเกมแบบดั้งเดิม เพราะเริ่มมองเห็นว่า อุตสาหกรรมเกมเริ่มมีทิศทางเปลี่ยนไป ผู้เล่นโอเคมากขึ้นกับการยอมจ่ายค่าเกมตัวเต็ม หากมันช่วยลดเวลาและการจ่ายเงินในการได้เทมในเกม ทางทีมพัฒนาเชื่อว่าการปรับทิศทางของเกมครั้งนี้จะช่วยให้ผู้เล่นสนุกกับเกมได้มากขึ้น
เกม Concord สุดดราม่าของ Sony ก็มองคล้าย ๆ กัน โดยประกาศไม่ทำเงินด้วยระบบ Battle Pass โดยต้องการให้ประสบการณ์ในการเล่นดีที่สุดตั้งแต่วันแรก รวมไปถึงเหตุผลที่ผู้เล่นต้องจ่ายเงินซื้อเกมราคา 40 ดอลลาร์อยู่แล้วนั่นเอง
เหตุการณ์ที่ 7: เกมที่ดี ต้องมี “ซีรีส์” หรือ “หนัง” เป็นของตัวเอง
กระแสเรื่องเกมต้องมีซีรีส์หรือหนัง ถึงจะทำยอดขายได้ดีนี้มีมาได้สัก 2 - 3 ปีแล้ว โดยเฉพาะช่วง The Witcher ของ Netflix ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวจุดประกายไฟในเรื่องนี้ให้กลับมาร้อนแรงขึ้นอีก เพราะพอตัวซีรีส์ฉาย ตัวเกมก็กลับมาได้รับความนิยมทันทีอีกครั้ง ทั้งในแง่ยอดขาย และจำนวนคนเล่นเกม
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อตัวซีรีส์หรือหนังทำออกมาดีพอ จนแฟน ๆ หรือผู้คนในวงกว้างชื่นชอบกันเท่านั้น
ในปี 2024 ที่ผ่านมานี้เอง กระแสแนวทางนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แถมดูแล้วว่าจะกลายเป็นกระแสหลักในปัจจุบันนี้ไปแล้วเสียด้วย
ความร้อนแรงในปีนี้เริ่มต้นขึ้นจากซีรีส์ Fallout บนแพลตฟอร์ม Amazon Prime ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ เฉกเช่นที่ Witcher เคยทำได้ ส่งผลให้ปี 2024 เต็มไปด้วยซีรีส์จากหนังหรือจากเกมมากมาย และในอนาคตอันใกล้นี้ก็ด้วยเช่นกัน
โดยในปี 2024 นี้ทาง Amazon Prime นอกจากจะฉาย Fallout ไปแล้ว ยังได้ฉาย Like a Dragon: Yakuza ฉบับคนแสดงอีกด้วย อีกทั้งในปีนี้ยังมีหนังจากเกม Borderlands เข้าฉาย แม้จะไม่ได้รับความนิยมนักก็ตาม ความนิยมนี้ส่งผลให้ทางค่าย Warner Bros. Discovery สนใจขายไลเซนส์ตัวละครให้บริษัทอื่นมาทำเกม เพราะ Warner Bros. Discovery มีแฟรนไชส์จากภาพยนต์และซีรีส์ถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก
Minecraft ยังได้ประกาศทำภาพยนตร์ ซีรีส์ ของตัวเอง ซึ่งก็พึ่งมีตัวอย่างเปิดตัวออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ทางฝั่ง Remedy Entertainment เจ้าของเกม Control และ Alan Wake ก็ประกาศทำหนังหรือซีรีส์ของทั้ง 2 เกมเช่นกัน โดยดึงบริษัทภาพยนตร์ Annapurna เข้ามาร่วมลงทุน
และสุดท้ายความร้อนแรงของหนังหรือซีรีส์จากเกมในปี 2024 ก็จบลงด้วย Arcane ซีรีส์อนิเมชันจากเกม League of Legends ที่จบซีซัน 2 ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทำได้ดีจนประกาศจะมีเรื่องราวต่อตามมาอีกมากมายในอนาคต แม้ตัวซีรีส์จะไม่ทำให้คนอยากเล่นตัวเกมก็ตาม
เหตุการณ์ที่ 8: “รีวิว” มีอิทธิพลกับเกมมากกว่าเดิม…
รีวิวเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมาก ๆ ต่อทุกอย่างมานานแล้ว โดยเฉพาะยุคออนไลน์ รีวิวแทบจะเป็นตัวตัดสินอะไรหลาย ๆ อย่างเลยก็ได้ ตั้งแต่ยอดขาย ไปจนถึงความอยู่รอดของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งในปี 2024 นี้ สิ่งที่เรียกว่ารีวิว มันกลับยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนผ่านเข้ามาเกี่ยวข้อง มันส่งผลก่อให้เกิดกลุ่มคนขึ้นเป็นฝักฝ่าย และทวีความรุนแรงในเรื่องความคิด และความเชื่อมากยิ่งขึ้น
ถ้าพูดถึงรีวิวส่งผลถึงตัวเกม จะขอเล่าเป็น ๆ เคส ๆ ไป โดยเริ่มจากปัญหา Dragon's Dogma 2 ที่ตัวเกมแครชและเฟรมเรตตกตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่าย ส่งผลให้คนรีวิวให้แง่ลบกับตัวเกมทันที และแม้ว่าตัวเกมจะแก้ปัญหาได้แล้ว ตัวเกมก็กลับไม่ได้ถูกพูดถึงในทางที่ดีอีกมากนักหลังจากนั้น
Cities: Skylines II โดนวิจารณ์คุณภาพตัวเกมว่ายังไม่ดีพอ แล้วยังทำ DLC ออกมาขายของเพิ่ม จนทาง Paradox Interactive จำเป็นต้องคืนเงินค่า DLC ให้ผู้เล่น เปลี่ยนมาแจกฟรี และขอโอกาสแก้ตัวอีกครั้ง
Helldivers 2 ประกาศบังคับล็อกอิน PSN บน PC จากเกมกระแสดีคนชื่นชม กลายเป็นโดนทัวร์ลงเพราะความหิวยอดของทาง Sony ต่อมาเป็นดราม่าของเกม Starfield ที่คิดเงินค่าภารกิจเสริมอันเดียว 7 ดอลลาร์ กลายเป็นว่าโดนแฟนเกมถล่มและ
ดราม่าที่รุนแรงที่สุดในรอบปี คงหนีไม่พ้นเกม Assassin's Creed Shadows ที่เปิดตัวออกมาเป็นตัวเอกคนดำชาวต่างชาติแทนที่จะเป็นคนญี่ปุ่น รวมไปถึงรายละเอียดในตัวเกมต่าง ๆ ที่มีความไม่ชัดเจนหรือประณีตไม่พอ เช่น เรื่องแต่งอิงประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ส่งผลให้ตัวเกมโดนดราม่าใส่แบบหนักหน่วง ไม่ว่าจะมีอัปเดตเล็กน้อยขนาดไหน ความคิดเห็นจะเป็นแง่ลบทั้งหมด ส่งผลให้ตัวเกมต้องเลื่อนวางจำหน่ายออกไปเป็นในปี 2025 นี้
ความหนักหน่วงของ Assassin's Creed Shadows ยังส่งผลไปยังเกมอื่น ๆ มากมาย อาทิเช่น Concord ที่มีภาพลักษณ์ในแง่การออกแบบที่ค่อนข้างเฉพาะทาง จนโดนจับลากมาผูกปมเรื่องเดียวกับ Assassin's Creed Shadows กลายเป็นกระแสแง่ลบมาก ๆ จนทาง Sony ต้องประกาศปิดตัวเกมทิ้งไป แม้ว่าจะพัฒนาตัวเกมมานานหลายปีก็ตาม
Ghost of Tsushima ที่ถูกนำเอามาเปรียบเทียบกับเกม Assassin's Creed Shadows เอง พอตัวเกมเปิดตัวภาคใหม่ Ghost of Yōtei แล้วเปลี่ยนตัวละครเอกเป็นผู้หญิง ก็โดนดราม่าเล็ก ๆ ใส่เหมือนกัน และจบท้ายปีด้วยดราม่ารางวัล The Game Awards ที่ผู้คนต่างชอบ Black Myth: Wukong กัน แต่ดูคู่แข่งแล้วก็กลัวว่าจะไม่น่าจะได้รางวัล กลายเป็นศึกน้ำลายของผู้ชื่นชอบในแต่ละเกมขึ้น ซึ่งลามไปถึงตัวผู้จัดงาน ที่ใช้กรรมการคัดเลือกเกมได้รางวัล แทนที่จะเป็นการโหวต
เหตุการณ์ที่ 9: AI เครื่องมือใหม่ในการ “สร้างเกม”
ปีนี้คือปีแห่ง AI อย่างแท้จริง แต่ถ้าในแง่ของการสร้างหรือพัฒนาเกม เรียกว่าเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น โดยในปี 2024 นี้ เราได้เห็นหลาย ๆ ค่ายออกมาพูดถึงการใช้ AI ในการพัฒนาเกมอยู่มากมายทีเดียว
เริ่มต้นจากช่วงต้นปีกับ Takashi Kiryu ประธานบริษัท Square Enix ออกมาประกาศว่าทางบริษัทมีความตั้งใจนำ AI และเทคโนโลยีระดับสูงอื่น ๆ เข้ามาใช้ในทั้งการพัฒนาเนื้อหาและการวางจำหน่ายเกม ในระยะสั้นบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเกมและการตลาดของบริษัท ในระยะยาวบริษัทหวังว่าจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สร้างรูปแบบเนื้อหาใหม่ ๆ สำหรับผู้บริโภค และเชื่อว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยี AI นี้สามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้
ต่อมา Kosuke Okatani โปรดิวเซอร์ Foamstars เกมยิงแนวการ์ตูนของ Square Enix เปิดเผยว่ามีการใช้ AI สร้างรูปภาพบางส่วนในเนื้อหาเกมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย AI ที่นำมาใช้นี้ เป็นการทดลองดูว่าภาพที่สร้างด้วย AI จะทำงานไปกับเกมได้ดีแค่ไหน ซึ่ง Midjourney คือเครื่องมือที่ทีมงานใช้ ด้วยการ prompt คำสั่งพื้นฐานเพื่อให้ได้ภาพ Abstract มาเสริมในเกม
นอกจาก Square Enix แล้ว ในปีนี้เรายังได้เห็น Roblox เปิดตัวโมเดล AI ปรับแต่งที่รองรับการแปลข้อความในแชทภาษาต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ รองรับการแปล 16 ภาษา ซึ่งมีภาษาไทยรวมอยู่ด้วย ทางฝั่ง EA ยังได้ออกมาพูดถึง AI เช่นกัน โดย Andrew Wilson ซีอีโอของ EA เผยว่า Generative AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างเกม 30% และเพิ่มรายได้ให้บริษัท 20% ภายใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมบอกว่าความก้าวหน้าอันรวดเร็วของเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างเกมที่ดียิ่งขึ้น และมีเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์มากขึ้นได้
โดยในอดีตการสร้างสนามกีฬาในเกมต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน แต่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หลังจาก EA ได้ใช้ Generative AI ระยะเวลาสร้างก็ลดลงเหลือ 6 สัปดาห์ และเชื่อในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระยะเวลาอาจลดลงไปอีกจนเหลือ 6 วัน
ทั้งนี้ EA ประเมินกระบวนการพัฒนาเกมทั้งหมด และพบว่ามีมากกว่า 50% ที่สามารถนำ AI มาใช้งานได้ โดยการนำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นใน 1-3 ปีข้างหน้า ส่วนการใช้งานขั้นที่สอง คือการนำ AI มาขยายเกมให้ใหญ่ขึ้น สร้างโลกในเกมที่ใหญ่กว่าเดิม มีตัวละครมากกว่าเดิม มีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจกว่าเดิม คาดจะเกิดขึ้นในระยะถัดไปคือ 3-5 ปี ส่วนในระยะเลย 5 ปีขึ้นไป มองว่าจะเป็นการนำเครื่องมือ AI ที่พนักงานของ EA ใช้ เปิดให้ชุมชนผู้เล่นนำมาใช้งานเพื่อสร้างคอนเทนต์ในแบบของตัวเอง
Shigeru Miyamoto จาก Nintendo ก็ได้พูดว่า ทาง Nintendo กำลังมอง ๆ ดูเกี่ยวกับ AI อยู่เช่นกัน และจบท้ายปีด้วยการประกาศเปิดตัวสตูดิโอเกม ที่ใช้ AI สร้างเกมของเจ้าพ่อฝั่งเทคโนโลยี Elon Musk ก็เรียกได้ว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว
ในแง่ฝั่งอุตสาหกรรมเอง ก็เกิดการปรับตัวจากการมาของ AI อยู่เหมือนกัน ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ Valve ที่ออกมาประกาศกฎใหม่เกี่ยวกับการจัดการเกมที่ใช้ AI ช่วยสร้างบน Steam โดยจะตรวจสอบเนื้อหาเกมที่ใช้ AI สร้างของแพลตฟอร์มด้วยการให้ผู้สร้างเกมเปิดเผยข้อมูล AI โดยขอให้นักพัฒนาอธิบายว่าเกมของพวกเขาใช้ AI ทำอะไรบ้าง และจะแยกระหว่างเนื้อหา AI ที่สร้างไว้ล่วงหน้า และเนื้อหา AI ที่สร้างขึ้นแบบสด ๆ
ข้อมูล AI ส่วนใหญ่จะปรากฏบนหน้าเกมของร้านค้า Steam เพื่อให้เกมเมอร์เข้าใจว่าเกมที่พวกเขากำลังจะซื้อใช้ AI ในเกมอย่างไร นอกจากนี้ Valve มีแผนที่จะเปิดตัวระบบใหม่ที่อนุญาตให้เกมเมอร์รายงานเนื้อหาที่ผิดกฎหมายภาย AI ที่สร้างขึ้นได้ด้วย
ส่วนในด้านการพัฒนาแบบตรง ๆ ก็มีสตูดิโอที่ได้ลองหยิบเอา AI ไปใช้พัฒนาเกมแบบ 100% เผยตัวออกมาแล้ว นั่นก็คือ Keywords Studios บริษัทรับจ้างพัฒนาเกมจากประเทศไอร์แลนด์ ที่ได้ลองสร้างเกมด้วย Generative AI ทั้งหมด 100% ไม่ใช้มนุษย์เลย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเครื่องมือ Generative AI ตอนนี้ยังไม่ดีมากพอ
ต่อมา DeepMind ก็ได้เปิดตัวโมเดล GameNGen เกมเอนจินที่จำลองเกมได้สมจริงเหมือนการเล่นเกมจริง ๆ แต่ภายในเป็นโมเดลสร้างภาพ Stable Diffusion ถูกฝึกด้วยภาพเกมและการคอนโทรลต่าง ๆ สร้าง AI จินตนาการภาพเกมได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ด
และสุดท้ายในฝั่งของกลุ่มต่อต้าน ก็มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อยู่หนึ่งเหตุการณ์ นั่นก็คือการที่สหภาพนักแสดง-สมาคมศิลปินโทรทัศน์ และวิทยุแห่งอเมริกา หรือ SAG-AFTRA ประกาศประท้วงนัดหยุดงาน หลังจากการเจรจาข้อตกลงใหม่เกี่ยวกับการนำ AI มาใช้งานส่วนโปรดักชันมานานกว่า 1 ปีครึ่ง ไม่สามารถหาข้อสรุปได้
โดยจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจวิดีโอเกมทั้ง นักแสดง, คนให้เสียง, ผู้ควบคุมท่าทางตัวละคร ฯลฯ ทั้งหมด
เหตุการณ์ที่ 10: “จอย” กลายเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยม !?
ในช่วงปีนี้ อุปกรณ์อย่าง “จอยเกม” ดูจะเป็นอุปกรณืที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแล้วก็ว่าได้ โดยดูจาก 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
เริ่มจากช่วงต้นปีที่ทาง Sony ถูกปรับ 13.5 ล้านยูโรโดยหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของฝรั่งเศส ในเรื่องที่ Sony ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มจำกัดการเข้าถึงสิทธิ์บางอย่างของคอนโทรลเลอร์ PlayStation 4 ที่ผลิตโดยบริษัทอื่น แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่เกี่ยวกับการพัฒนาคอนโทรลเลอร์เกม ได้อย่างชัดเจน
Valve เผยสถิติของการใช้จอยเกมคอนโทรลเลอร์ในระบบ Steam ออกมาด้วย โดยพบว่าสัดส่วนการใช้งานจอยเพิ่มจาก 5% ในปี 2018 มาเป็น 15% ในปี 2024 หรือโตขึ้น 3 เท่า โดย Xbox Controller เป็นจอยที่ได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมาคือ PlayStation Controller และ Steam Deck
และจบท้ายด้วยการเปิดตัว Xbox Adaptive Joystick ของ Microsoft ที่ออกแบบมาสำหรับคนพิการใช้งานโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นว่าจอยเกม เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก ๆ กับผู้เล่นเกมทั้งโลก แม้ว่าเมาส์กับคีย์บอร์ดจะช่วยให้เล่นเกมบางเกมได้ง่าย แต่พอพูดถึงเรื่องการใช้งานที่เข้าถึงได้ทุกผู้คนแล้ว “จอย” คือตัวเลือกแรก และตัวเลือกเดียวเท่านั้นครับ
เหตุการณ์ที่ 11: กฎหมายควบคุมเกมใน “จีน” ฉบับใหม่
จีนเป็นหนึ่งในประเทศ ที่ถ้าใครสามารถนำเอาเกมเข้าไปเปิดได้ เกมดังกล่าวก็อาจจะประสบความสำเร็จได้สูง แต่ด้วยหลายปีที่ผ่านมา กฎหมายควบคุมเกมในประเทศจีนค่อนข้างเข้มงวดมาก แต่ในปี 2024 ที่ผ่านมามานี้ ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นแล้ว
เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อสำนักงานสื่อและสิ่งพิมพ์แห่งชาติของจีน เปิดเผยร่างแนวทางกำกับดูแลใหม่ เพื่อควบคุมการใช้จ่ายตลอดจนเนื้อหาในเกม ส่งผลให้หุ้นบริษัทเกมในจีน เช่น Tencent, NetEase ตกหนัก ส่งผลให้หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่ทำหน้าที่ดูแล NPPA และเป็นคนตรวจสอบกฎหมายกฎหมายนี้ ถูกรัฐบาลจีนปลดออกจากตำแหน่งทันที
ต่อมาทางจีนก็ได้ถอดรายละเอียดร่างกฎหมายกำกับดูแลเกมออนไลน์ออกจากเว็บไซต์ คาดางกฎหมายใหม่ และด้วยการมาของเกม Black Myth: Wukong ที่พัฒนาโดยสตูดิโอจีน จนกลายเป็นเกมฮิตประจำปี ก็ทำให้ตลาดเกมในจีนฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง
เหตุการณ์ที่ 12: “เกมก๊อป” มีบทบาทมากขึ้น !?
คำว่า “เกมก๊อป” อาจฟังดูแย่ แต่ในปี 2024 ที่ผ่านมา เกมเหล่านี้กลับได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเกมต้นฉบับหลาย ๆ เกมล้วนเสื่อมความนิยมลง หรืออาจเพราะยังคงความเป็นแนวทางเดิม ๆ เอาไว้ ทำให้แฟนเกมต่างเริ่มเบื่อหน่าย
ตัวอย่าง “เกมก๊อป” ที่พูดว่าได้ดีในปี 2024 ก็มีตั้งแต่ Palworld ที่ทำสถิติขายได้ 3 ล้านชุด ใน 40 ชั่วโมงแรก ความนิยมของมัน รวมไปถึงภาพลักษณ์การเป็นเกมก๊อป ทำให้ทางบริษัทเจ้าของเกมอย่าง Pocketpair โดนขู่ฆ่าจำนวนมากมาจากแฟนเกม Pokémon ดราม่าของตัวเกมยาวไปจนถึงคนทำ Mod ที่พยายามทำ Mod เปลี่ยนมอนสเตอร์ใน Palworld ไปเป็น Pokémon จนโดนทาง Nintendo ขู่ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ในทันที รวมไปถึงตัวเกม ก็โดน Nintendo ตรวจสอบและฟ้องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาเช่นกัน
นอกจากนี้ท้ายปียังมีเกมอย่าง Path of Exile II ที่มีลักษณะเหมือนเกม Diablo IV เปิดตัวออกมา รวมไปถึงเกม Light of Motiram ของ Tencent ที่หน้าตาเหมือนกับ Horizon Zero Dawn ของ Guerilla Games อย่างมากด้วย โดยเกมที่ว่ามาทั้งหมด ล้วนถูกพูดถึงเป็นอย่างมากทีเดียว
เหตุการณ์ที่ 13: ทุกเกมต้องใส่ Mod ได้ !!
เกมที่ใส่ Mod ได้ กลายเป็นเกมที่ได้รับความนิยมมาก ๆ มานานแล้ว เพราะ Mod ทำให้เกมเก่า ๆ กลับมาใหม่อีกครั้ง หรือเพิ่มลูกเล่นใหม่ ๆ ให้กับเกมที่เราชอบได้เล่นสนุกได้มากขึ้น ในปี 2024 ความนิยมในเรื่องนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน และมันยังช่วยผลักดันให้นักพัฒนามีช่องทางในการหารายได้มากขึ้นด้วย เช่น เป็นนักพัฒนา Mod สำหรับเกมต่าง ๆ เป็นต้น
เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับ Mod เด่น ๆ ในปีนี้จะมีทั้งหมด 3 เหตุการณ์ด้วยกัน CD PROJEKT RED ร่วมมือกับ Yigsoft เปิดตัว The Witcher 3 REDkit เครื่องมือม็อดเกม The Witcher 3 โดยเฉพาะ ปรับทุกสิ่งในเกมได้ทั้งหมด รวมไปถึงสามารถแชร์ผลงานให้ผู้เล่นอื่นโหลดไปเล่นได้
Starfield เปิดตัวภาคเสริม Shattered Space พร้อมทำให้ตัวเกมรับ Mod ได้ผ่าน Creation Kit ตามแนวทางของ Bethesda และสุดท้ายกับ Fallout London ที่เป็นโปรเจค Mod ของแฟนเกม Fallout 4 ซึ่งพัฒนามานานตั้งแต่ปี 2020 ก็ได้เปิดตัวออกมาแล้ว รวมไปถึงตัวทีมยังได้เดินหน้าต่อกลายเป็นทีมนักพัฒนาในระยะยาวอีกด้วย
เหตุการณ์ที่ 14: อุตสาหกรรมเกมฟองสบู่แตก...
ไม่รู้ว่าใครสังเกตุไหม ช่วงนี้เกมใหม่ ๆ เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง ผู้เล่นโหยหาเกมเก่า ๆ มากกว่า รวมไปจนถึงเกมใหม่ ๆ เองก็เซฟตัวเองมากขึ้น เน้นออกเกมแนวเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาตามสูตรสำเร็จ ซึ่งนั่นอาจมองได้ว่า อุตสาหกรรมเกม กำลังจะเกิดภาวะ “ฟองสบู่แตก” ในเร็ววันนี้
สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดของภาวะนี้ คือการปลดพนักงานจำนวนมากของบริษัทเกมต่าง ๆ ไม่ว่าจะ Microsoft, Eidos Montreal, Bandai Namco, Embracer Group, Electronic Arts, Ubisoft, SEGA, Humble Games, Game Informer และ Sony Interactive Entertainment ซึ่งออกมาประกาศปลดพนักงานตั้งแต่หลัก 100 ไปจนถึง 1,000+ ยังได้มีการปิดสตูดิโอต่าง ๆ รวมไปถึงโปรเจคเกมไปจำนวนมาก
กลับหน้ารวม